ครูใหญ่ของเด็กๆ BNK48 : เอ๊ะ ละอองฟอง

88.2K View

La ong Fong

    ถ้าพูดถึงเกิร์ลกรุ๊ปในประเทศไทยที่กำลังมาแรงสุดๆ ในตอนนี้คงหนีไม่พ้น ‘BNK48’ หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงและหลอกตัวเองว่าไม่ได้ชื่นชอบอะไรมากมาย แต่สุดท้ายก็โดนน้องๆ ตก… (อย่างเช่นเราเอง ><) แต่เบื้องหลังของความสำเร็จที่ทุกคนได้เห็นยังมีคุณครูและผู้บริหารอีกหลายท่านที่ช่วยกันเคี่ยวเข็ญและผลักดันน้องๆ อยู่ไม่ห่าง วันนี้ SPICYDISC ชวน “เอ๊ะ - พงศ์จักร พิษฐานพร” หรือ เอ๊ะ ละอองฟอง Music Director BNK48 ที่เด็กๆ เรียกกันว่าครูใหญ่ มาคุยเรื่องเบื้องหลังที่กว่าจะเป็นไอดอลโด่งดังเหมือนทุกวันนี้


ครั้งแรกที่รู้ว่าต้องเข้ามาทำงานกับ BNK48 ความคิดแรกที่เกิดขึ้นคือวงเกิร์ลกรุ๊ปรูปแบบไหน?

เอ๊ะ : พี่เอ๊ะรู้จักวงสไตล์นี้มาตั้งแต่ AKB48 แล้ว ก็มองเป็นเกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่น ที่มาในรูปแบบของไอดอล พอได้คุยกันกับนักลงทุนพี่เอ๊ะก็รู้สึกว่า เฮ้ย! มันเป็นสิ่งใหม่ที่จับต้องได้ ไม่ใช่สิ่งแปลก มันมีความน่าสนใจ แล้วก็มีเรื่องราวมากกว่าการที่คุณจะเสพแต่เพลงอย่างเดียว เป็นการสร้างสังคมย่อยๆ เพื่อสนับสนุนกัน ให้กำลังใจกัน

บ้านเราไม่เคยมีวงเกิร์ลกรุ๊ปแบบนี้มาก่อน เลยกลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ แล้วเราจะทำยังไงให้คนจับต้องเรื่องนี้ได้จริง? ทำยังไงให้เขาเปิดใจยอมรับ? พี่เอ๊ะคิดว่าเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เรามีคือ ‘เพลง’ เพลงเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับวงนี้มาก่อนหันมามอง นึกภาพง่ายๆ เหมือนเราเดินไปตามห้างสรรพสินค้า เพลงเข้าหูแล้วก็ผ่านไป กับเพลงที่เข้าหูแล้วเราต้องหันกลับมามองว่า ‘เอ๊ะ นี่เพลงใครอะ?’ เพราะฉะนั้นเราเลยใช้เพลงเพื่อดึงดูดคนที่ไม่รู้จักเรา ไม่เคยเห็นเรา ให้เขาหันกลับมามอง พอเขามาสนใจและได้ศึกษาว่ามันเป็นสังคมยังไง ได้เห็นการเติบโตของเด็กๆ และด้วยความที่มีกระแสของ AKB48 อยู่แล้ว ในวันแรกที่ประกาศว่าจะมีวงน้องสาวที่กรุงเทพฯ (Bangkok) เปิดเพจวันแรกมีคนเข้ามาไลก์ 20,000 คน คือเขาเป็นแฟนคลับของ AKB48 อยู่แล้ว เป็นคนไทยนี่แหละ แล้วเขาก็รอคอยว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีน้องๆ มาให้ชื่นชม 



บ้านเราไม่เคยมีวงเกิร์ลกรุ๊ปแบบนี้มาก่อน เลยกลายเป็นสิ่งแปลกใหม่ แล้วเราจะทำยังไงให้คนจับต้องเรื่องนี้ได้จริง? ทำยังไงให้เขาเปิดใจยอมรับ? 


ในฐานะของครูใหญ่ การศึกษาหาข้อมูลมาทำงานอ้างอิงมาจาก AKB48 อย่างเดียวเลยไหม?

เอ๊ะ : ควบคู่กันครับ ศึกษาของไทยด้วย เกิร์ลกรุ๊ปไทยที่หายไปเพราะขาดการเชื่อมต่อกันระหว่างแฟนคลับกับศิลปิน แต่คอนเซปต์ของไอดอลญี่ปุ่น คุณสามารถเจอเขาได้ คุณรู้จักเขาได้ คุณสัมผัสเขาได้ สามารถสื่อสารกันได้ นี่คือความแตกต่าง อีกอย่างคือไอดอลของไทยเรา สมัยก่อนจะมีความเป็นสไตล์เกาหลี มีความเป็น Perfectionist ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบแต่นี่ไม่ใช่ นี่จะเป็นเด็กธรรมดา เหมือนเด็กข้างบ้านที่มีฝัน และมีความอยากเดินไปสู่ความสำเร็จ มีความพยายาม และต้องการกำลังใจ คนที่สนับสนุนก็จะติดตามน้อง ให้กำลังใจน้อง ส่งต่อความรู้สึกดีๆ ให้กัน แล้วเดินไปด้วยกันกับน้องๆ แล้วฐานมันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 


สำหรับศิลปินไทย เราสามารถจับมือได้ ขอถ่ายรูปได้เลยทันที แต่กับน้องๆ ต้องมีเงื่อนไข คิดว่าตรงนี้เป็นปัญหามั้ย?

เอ๊ะ : สมมติว่าเราชอบศิลปินคนหนึ่ง แล้วศิลปินคนนี้ไม่เคยถ่ายรูปกับใครเลย ถ้าเราอยากจะเจอเขา คือเราต้องซื้อตั๋วไปหาเขา ถึงจะได้เจอ ได้พูดคุย ถ้าเราซื้อรูปเขาไปประมาณล้านบาท วันดีคืนดีมีใครก็ไม่รู้ไปถ่ายรูปกับเขาโดยที่คนนั้นไม่ได้เสียเงินสักบาทเลย มันก็ไม่แฟร์ต่อคนที่สนับสนุน ถ้าอยากจะเจออยากจับมือก็มาเลย เรามีงานจับมือ มีบัตรจับมือ ซื้อตั๋วมาจับมือน้องได้ อยากจับนานๆ ก็ซื้อไปเลย 1,000 ใบ มาจับเลยพันครั้ง น้องๆ ยินดี แต่ถ้าไปข้างนอกจับไม่ได้นะ มันไม่ยุติธรรมกับคนอื่นๆ เป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เป็นการให้ความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างตัวศิลปินและแฟนคลับด้วย แฟนๆ ก็เข้าใจครับ ไม่มีปัญหาอะไร


โมเดลธุรกิจแบบใหม่สไตล์ไอดอล

เอ๊ะ : มันเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เหมือนคนๆ หนึ่งเจออะไรมากมาย มีท้อแท้ มีผิดหวัง ต้องการกำลังใจ มันก็ได้จากพ่อแม่พี่น้อง เพื่อน หรือใครก็ได้ที่สามารถมาเติมเต็มเราได้ วันหนึ่งเราไปเจอคนนึงที่กำลังเติบโต และมีความพยายาม เขาน่ารัก น่าสนับสนุน แล้วเขาก็สู้ชีวิตจังเลย อะ…เราสนับสนุนน้อง ให้กำลังใจน้อง ทำให้มันเกิดการหันมามองตัวเองว่า ทำไมเราไม่สู้บ้าง เราต้องสู้ชีวิตสิ เราเจออะไรเราก็ต้องผ่านไปให้ได้เหมือนกับน้อง ในท้ายที่สุดการแลกเปลี่ยนกันซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันทำให้เกิดความรัก เป็นพลังที่ส่งต่อกันแล้วมันขยายใหญ่ขึ้น เพราะใครๆ ล้วนก็ต้องการกำลังใจ 



ในท้ายที่สุดการแลกเปลี่ยนกันซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันทำให้เกิดความรัก เป็นพลังที่ส่งต่อกันแล้วมันขยายใหญ่ขึ้น เพราะใครๆ ล้วนก็ต้องการกำลังใจ

 

การให้กำลังใจในฐานะครูใหญ่

เอ๊ะ : อันดับแรกพี่เอ๊ะต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ ก่อนว่าการเป็นไอดอล ไม่ใช่แค่การทำตัวสวยๆ หรือทำตัวน่ารักให้คนเห็น แต่ไอดอลคือการเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งการเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านนั้นๆ คุณไม่ต้องเก่งที่สุดหรือดีที่สุด พี่เอ๊ะบอกเด็กๆ เสมอว่า ต้องเดินไปข้างหน้าในทุกวัน ไม่ได้ต้องการให้ออกมาแล้วสมบูรณ์แบบทั้งร้องทั้งเต้น เพียงแค่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานก็พอ ครูไม่เคยดุด่าว่าเธอไม่ดี แค่บอกว่าวันนี้ทำแล้ว พรุ่งนี้ต้องทำให้ดีกว่าวันนี้นะ แต่ถ้าเกิดการถอยหลังก็ต้องมานั่งคุย มาให้กำลังใจกันว่าจะทำยังไงให้สามารถสู้ต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ท้าทายพี่เอ๊ะมาก นึกย้อนไปตอนที่ทำละอองฟอง ก็มีน้องอรคนเดียวเน้อะ แต่นี่มีเกือบ 30 คน แล้วยังมีพี่เอ๊ะคนเดียวเหมือนเดิม (หัวเราะ) มันก็ต้องใช้พลังเยอะม้วกกก! มากกว่าเดิมเกือบ 30 เท่า (หัวเราะ)

ในช่วงแรกๆ นี่หนัก เพราะเด็กๆ ยังมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้า ยังไม่มีใครรู้จัก ไม่มีอะไรเลย อยู่กับความว่างเปล่า ต้องซ้อม ต้องฝึก ต้องเจอภาวะกดดัน ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด สิ่งที่เราให้ได้ คือ ต้องถามว่าแล้วรักกับสิ่งที่ทำรึเปล่า เลือกมาแล้วเธอชอบไหม ความสุขของเธอคืออะไร ถ้าเธอเหนื่อยหยุดพักได้ หายเหนื่อยก็ซ้อมต่อ แต่ถ้าถามแล้วมีความสุข ถึงมันจะเหนื่อยมันก็เป็นกำลังใจของเธอ ถ้าถามแล้วคำตอบคือไม่ได้รักมัน เธอก็กลับไปเถอะ อยู่ต่อไปมันก็ทรมานเปล่าๆ

ทำให้ย้อนกลับมาที่ตัวพี่เอ๊ะเองเหมือนกัน พี่เอ๊ะทำอะไรหลายอย่างก็ใช่ว่าจะสำเร็จทั้งหมด แต่พี่เอ๊ะก็ไม่หยุดเดิน มันเป็นสิ่งที่พี่เอ๊ะสะสมมาตั้งแต่แรกเริ่มชีวิต พี่เอ๊ะไม่เคยทำลายความฝันตัวเอง ทำมาเรื่อยๆ จนวันนึงมันเป็นไปได้ อีกอย่างคือสิ่งที่พี่เอ๊ะทำเป็นสิ่งที่พี่เอ๊ะรัก พี่เอ๊ะอยากมาอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องทำให้เด็กๆ มีความชัดเจนและเข้าใจให้ได้ว่า อยู่จุดนี้เพื่ออะไร เพื่อชื่อเสียงหรือความโด่งดังรึเปล่า ซึ่งแท้จริงแล้วพวกนี้คือโบนัสนะ ในท้ายที่สุดคือเด็กๆ ต้องไปยืนอยู่บนยอดพีระมิดของตัวเองให้ได้


พีระมิดของแต่ละคน

เอ๊ะ : หลักการพีระมิดคือสิ่งที่พี่เอ๊ะคิดและยึดถือมาโดยตลอด ในแต่ละคนก็จะมีพีระมิดเป็นของตัวเอง ทุกคนไม่เหมือนกัน สุดแท้แต่ว่าตัวเราเองจะยกมันขึ้นมาแล้วมองมันรึเปล่าว่ายอดของพีระมิดของเราเป็นยังไง เราอยู่ตรงไหนแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ชอบไปมองพีระมิดของคนอื่น แล้วดันไปเดินขึ้นพีระมิดของชาวบ้านเขา โดยที่ไม่กลับไปมองในกระจกแล้วรับรู้ว่า เฮ้ย นี่ไงพีระมิดของตัวเองอยู่บนหัวเลยเนี่ย แค่เราต้องรู้ว่าเรามีและมองเห็นมัน แหงนไปมองซิว่าจุดมุ่งหมายในชีวิตเราคืออะไร แล้วเราก็เดินไปตามทางของเรา เดินไปเรื่อยๆ ถ้าชัน เหนื่อย ก็นั่งพักกินน้ำก่อน ระหว่างนั้นก็ยังมองยอดไว้อยู่นะ ต้องเห็นมันอยู่เสมอ แล้ววันนึงไปยืนอยู่บนยอดได้ เราก็จะเป็นเรา เบอร์หนึ่ง อยู่บนพีระมิดของตัวเอง ไม่ใช่ของใคร 



เราต้องทำให้เด็กๆ มีความชัดเจนและเข้าใจให้ได้ว่า อยู่จุดนี้เพื่ออะไร เพื่อชื่อเสียงหรือความโด่งดังรึเปล่า ซึ่งแท้จริงแล้วพวกนี้คือโบนัสนะ ในท้ายที่สุดคือเด็กๆ ต้องไปยืนอยู่บนยอดพีระมิดของตัวเองให้ได้


ก่อนจะเข้ามาเป็น “ครูเอ๊ะ” ต้องปรับท้ศนะคติของตัวเองเยอะมั้ย

เอ๊ะ : เหมือนจะไม่ต้องปรับเลยนะ (หัวเราะ) เพราะว่าพี่เอ๊ะก็เป็นคนที่สู้มาตลอด พยายามมาตลอด ไม่เคยหยุดเดินไปข้างหน้า และมีความสุขกับงานที่ตัวเองทำทุกอย่าง ทำทุกอย่างเต็มที่ พอได้ไปสอนเด็กๆ พี่เอ๊ะก็เป็นตัวอย่างให้เขา ให้เขารู้สึกว่าครูเป็นไอดอลของหนู ครูบินไปบินมา บ้าบอ เด็กๆ มาถามว่าไม่เหนื่อยเหรอครู พี่เอ๊ะก็บอกไปว่า ก็ครูชอบ พี่เอ๊ะไม่เคยปฏิเสธโอกาสที่เข้ามาเลย


ใช่แล้ว เห็นพี่เอ๊ะเดินทางบ่อยมาก มีเวลาพักมั้ย

เอ๊ะ : การพักผ่อนก็คือการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ก็คืองานนี่แหละ (หัวเราะ) ถ้าพี่เอ๊ะไม่ทำงานก็คงไม่มีชีวิตชีวาแบบนี้มั้ง ก็เอาสิ่งนี้ไปสอนเด็กว่าต้องรักในสิ่งที่ตัวเองทำ และอยู่กับมันให้ได้


เด็กๆ BNK48 ในมุมมองของครูเอ๊ะ

เอ๊ะ : ไล่ไปทีละคนเลยแล้วกันนะ




ส่วนคนที่จบการศึกษาไปแล้ว (ออกจากวง) อย่าง

สุดท้ายเลย คือ…




ครูเอ๊ะอยากฝากอะไรถึงน้องๆ รุ่นต่อไปมั้ย

เอ๊ะ : สำหรับเด็กรุ่นต่อไป อยากให้เด็กๆ ลองยืนมองกระจก แล้วถามตัวเองว่า เราจะก้าวมาในจุดนี้ทำไม เพราะอะไร แล้วพอได้คำตอบมาแล้วหน้าที่ของครูคือการพาเธอไปอยู่บนยอดพีระมิด เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเก่ง ไม่ต้องดี ไม่ต้องสวย แต่สิ่งที่จะอยู่หน้าทุกอย่างคือความตั้งใจ และทัศนคติที่มุ่งมั่นต่อฝันของตัวเอง ไม่ว่าจะไปอยู่ในจุดไหน ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ไว้จะทำให้ใครๆ ก็จะอยากทำงานด้วย มันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณไม่มีวันตายในการทำงาน ทำให้คุณไม่มีคำว่า ‘ว่าง’ ในชีวิต เหมือนครูเนี่ย (หัวเราะ)


เรื่อง พัชริดา สุพรรณชนะบุรี, จรัตพร โมรา 
ภาพ SPICY DISC, IG Aeh La-ong-fong

0 comments
Other Magazine
or